การศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
_________________________________________________________________________________
การศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
THE OPINIONS OF LEARNERS FOR KOREAN TEACHING CENTRE IN REPUBLIC OF KOREA
พระราชรัตนมงคล, ดร. (มนตรี อภิมนฺติโก, ยางธิสาร)*
Phrarajratanamongkol,(Montri Aphimontiko,Yangthisan). Ed.D. (Adult Educatin)
_________________________________________________________________________________บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ใน 4 ด้าน คือ หลักสูตร การเรียนการสอน สื่อและวัสดุอุปกรณ์ และการวัดผลและประเมินผลกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่พระสงฆ์ไทยที่วัดพุทธรังษีโซล (Watbuddharangsee Seoul) จำนวน 5 รูป และผู้เรียนภาษาเกาหลีในศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินที่เมืองฮวาซองชิ จังหวัดเกียงกิโด ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จำนวน 5 คน เมื่อพุทธศักราช 2557 เครื่องมือในการวิจัยได้แก่การสัมภาษณ์ แบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview)
ผลการวิจัย พบว่า (1) หลักสูตร: การสอนภาษาเกาหลีของวัดพุทธรังษีโซล และศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน เป็นหลักสูตรระยะสั้น ระดับละ 3 เดือน มี 4 ระดับ เรียนครั้งละ 2 ชั่วโมง เปิดสอนในวันอาทิตย์ เริ่มสอนตั้งแต่ระดับที่ 1 ผู้เรียนต้องขาดเรียนไม่เกิน 5 ครั้ง เรียนระหว่าง 13.00 น.-15.00 น. (2) การเรียนการสอน: ผู้เรียนภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐาน จะใช้ภาษาไทยกำกับไว้กับภาษาเกาหลี ส่วนผู้สอนเป็นครูอาสาสมัครที่เป็นชาวไทยเมื่อสอบผ่านระดับที่ 1 แล้ว ผู้เรียนของศูนย์แห่งนี้ซึ่งมาจากประเทศต่างๆ จะเข้าเรียนในห้องเรียนเดียวกัน ผู้สอนจะเป็นครูอาสาสมัครชาวเกาหลี (3) สื่อและวัสดุอุปกรณ์ : ใช้หนังสือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei university) ซึ่งผู้เรียนต้องมีพื้นฐานด้านภาษาเกาหลีอยู่พอสมควรจึงจะสามารถเรียนได้ ใช้เทปบันทึกเสียง กระดานไวท์บอร์ด และห้องสมุดภายในอาคาร (4) การวัดผลและประเมินผล : มีการสอบการอ่าน การเขียน การพูด และการฟังจากเทปเสียง แล้วให้กากบาทตามรูปภาพที่กำหนดให้ มีการเขียนข้อความใต้ภาพ และให้ผู้สอบทำเครื่องหมายว่า คำใดเขียนถูก คำใดเขียนผิด หรือเติมข้อความในช่องว่างของประโยคที่กำหนดให้ให้มีความสมบูรณ์ การสอบเพื่อเลื่อนระดับ ต้องเรียนให้ครบ 3 เดือนจึงจะมีการสอบเลื่อนระดับครั้งหนึ่ง และในฤดูหนาวไม่มีการเรียนการสอน ในการสอบ เมื่อสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งประกาศนียบัตรนี้สามารถนำไปแสดงเพื่อเข้ารับการทดสอบด้านความรู้ภาษาเกาหลีซึ่งจัดสอบโดยรัฐบาลฯ เกาหลี ต่อไป
คำสำคัญ: การสอนภาษาเกาหลี ศูนย์สอนภาษาเกาหลี
*พระราชรัตนมงคล, ดร. (มนตรี อภิมนฺติโก,ยางธิสาร) อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (ส่วนกลาง) ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ABSTRACT
The purpose of this research were to study the opinions of learners relating to learning Korean language in Korean Teaching Centre in Republic of Korea.The study was determined into four aspects regarding: curriculum, learning and teaching techniques, media and equipment and measurement and evaluation.
The population was classified into two purposive sampling groups as follows: firstly, five Thai monks studying Korean language at Watbuddhrungsee in Seoul and secondly, five learners learning Korean language at Korean Teaching Center, Ejumin at Hwaseong-si, Gyeonggi-do province in Republic of Korean in 2557 (2014).
The instrument used in this finding was the instructed interviews conducting to gather data from the sampling groups.
The following conclusions were based on the findings of this investigation: (1) The curriculum of Watbuddharungsee in Seoul and of the Korean Teaching Center were the same, which was a short-term course. It was assigned as a three-month learning course of each level. There were four levels that was open on Sunday for two-hour learning class. The starting time was at 1 pm. to 3 pm. Learners could be absent five times sharply. (2) Learning and Teaching techniques were found that learners who learnt Korean foundation exactly wrote Thai words together. Teachers were Thai volunteers who had passed the level one test. Learners from foreign countries would learn in the same class taught by Korean teachers. (3) Media and Equipment were found that they used the same textbooks as Yonsei University’s curriculum, which learners had to fairly know Korean foundation. The other equipment consisted of tape recording, white board, library and any others required. (4) Measurement and Evaluation was found to use tape recording as a tool for a reading test, a writing test, a speaking test and a listening test. The method used was to let the learners make a cross under the assigned pictures or check the correct words written under the pictures determined or complete the unfinished sentences given. Testing to promote each level, learners had to succeed learning for three months. There was no class in winter. Having passed the test each level, learners received certificates issued by the Leaning Centre. These certificates could be used to certify to enter testing Korean knowledge that the government organized.
Keyword: Learning teaching Korean language, Korean teaching Center
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มีคนไทยทำงานอยู่กว่าสามหมื่นคนเป็นอันดับสี่รองจากคนที่มาจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งแรงงานที่ไม่รู้ภาษาเกาหลีทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่าย ซึ่งมีแรงงานบางส่วนมีปัญหาในการอยู่ในเกาหลีใต้ในหลายๆ เรื่อง เช่นการปรับตัวกับสภาพอากาศ วัฒนธรรมที่แตกต่าง และมีปัญหาหลบหนีนายจ้าง เหล่านี้ เป็นต้น ทางการไทยได้ร้องขอต่อรัฐมนตรีแรงงานเกาหลีใต้ให้ช่วยดูแลสวัสดิการ ที่พัก อาหาร ของแรงงานไทยให้เทียบเท่าแรงงานเกาหลีใต้ (เผดิมชัย สะสมทรัพย์,2555)ในปัญหามากมายหลายประการเหล่านั้น มีอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ แรงงานไทยในเกาหลีใต้ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเกาหลีได้ดีพอ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้ง่าย บางส่วนมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสภาพการทำงาน ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญที่สุดคือหลบหนีนายจ้าง เพราะไม่สามารถอดทนทำงาน 3Dได้ อันที่จริงงาน 3 ดีที่กล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่งานสกปรก (dirty) งานยากลำบาก (difficult) งานอันตราย (danger) โดยสภาพการทำงานในเกาหลีใต้ การย้ายงานในระบบอีเอสพีต้องเป็นสิทธิของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว แม้จะมีการอนุญาตให้แรงงานสามารถทำสัญญาจ้างงานเกิน 1 ปี โดยต่อสัญญาได้ไม่เกิน 3 ปี แต่อุตสาหกรรมบางประเภทเช่นโรงงานหลอมเหล็ก งานรีไซเคิลพลาสติก งานในโรงงานที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง มักจะขาดแคลนแรงงานเพราะแรงงานมักทนไม่ไหวต้องหลบหนี จึงต้องประเมินสภาพความพร้อม ความสามารถในการเผชิญปัญหาเหล่านี้ของแต่ละบุคคลไว้ด้วย
ดังที่ได้กล่าวแล้ว เนื่องจากมีแรงงานไทยในเกาหลีใต้ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้มีสถานที่ทำบุญ จึงมีการสร้างวัดไทยโดยการสนับสนุนของแรงงานไทย ด้วยการอาราธนาพระสงฆ์จากวัดพุทธรังษี แอนนันเดล นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มาพำนัก ณ วัดพุทธรังษีโซล ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 326-1 ยูริ เขตพงดำ เมืองฮวาซองซี จังหวัดเกียงกิโด และได้ทำพิธีเปิดวัด ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 และเป็นวัดไทยแห่งแรกในเกาหลีใต้ (วัดพุทธรังษีโซล, 2556)
ด้วยเหตุที่มีแรงงานไทยได้พำนักในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากและมีพระสงฆ์ไทย จึงมีความจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวเกาหลี ดังนั้น การเรียนภาษาเกาหลีจึงมีความสำคัญ กล่าวคือผู้ประสงค์จะเดินทางไปพำนักในเกาหลีใต้ ได้มีการเริ่มต้นเรียนภาษาเกาหลี โดยเริ่มต้นในประเทศไทยซึ่งมีศูนย์การสอนภาษาเกาหลี อยู่มากมายหลายแห่ง เช่น ศูนย์สอนภาษาเกาหลี พาราไดม์ (2557) ได้เปิดคอร์สภาษาเกาหลี ประกอบไปด้วยทักษะทั้ง 4 ได้แก่การฟัง การพูด การอ่านและการเขียนน อกจากนั้นโรงเรียนแม้นศรีพัฒนาวิชาชีพและภาษา (2557) ได้ดำเนินการสอนภาษาเกาหลี ได้แก่ 1) ภาษาเกาหลีสำหรับวิชาชีพเบื้องต้น ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตร 80 ชั่วโมง 2) การอบรมภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีเบื้องต้นก่อนไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS-Employment Permit System)ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตร 45 ชั่วโมง และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2557) ได้จัดโครงการอบรมภาษาเกาหลีสำหรับบุคคลภายนอก ปลายปี 2557 จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหล่านี้ เป็นต้น
การสอนภาษาเกาหลีในศูนย์ดังกล่าวแล้วนั้น นอกจากมีศูนย์ภาษาเกาหลีในประเทศไทยแล้ว ในเกาหลีใต้ ได้มีการสอนภาษาเกาหลีสำหรับชาวต่างประเทศอยู่หลายแห่ง เช่น ศูนย์ภาษาเกาหลีตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆ กับสถานีรถไฟใต้ดินซินชอน ซึ่งสะดวกในการเดินทาง โดยสามารถเดินจากสถานีถึงโรงเรียนเพียงระยะทาง 10 เมตรเท่านั้น มีหลักสูตรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนหลักสูตรภาษาเกาหลีระยะสั้น (เอ็ดยุเคทปาร์ก, 2557) โรงเรียนสอนภาษาเกาหลี ที่เมืองแทกู เกาหลีใต้ และสถาบันสอนภาษาเกาหลี นารามัล, แทกู, ในเกาหลีใต้ เป็นสถาบันเปิดสอนภาษาเกาหลีโดยอาจารย์ชาวเกาหลีผู้มีประสบการณ์การสอนจากมหาวิทยาลัยต่างๆในเกาหลีใต้ โดยมีหลักสูตรและการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียน/นักศึกษาต่างชาติได้เรียนรู้ เข้าใจ สามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาเกาหลีและเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลีควบคู่กันไปด้วย สถาบันสอนภาษาเกาหลีนารามัล ตั้งอยู่ที่เมืองแทกู เกาหลีใต้
สืบเนื่องจากประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดังที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2557) กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ว่า มีความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยในระดับทวิภาคี มีความมั่นคงและการทหารก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อ 1 ตุลาคม 2501 ซึ่งต่อมาได้ยกขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อ 1 ตุลาคม 2503
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ดังนั้น จึงมีคนไทยเดินทางไปพำนักอยู่ในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแรงงาน นักธุรกิจ นักศึกษา และพระภิกษุสงฆ์ ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเรียนภาษาเกาหลี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ แตกต่างกันไป เช่น 1) เพื่อการสื่อสารกับนายจ้าง 2) เพื่อศึกษาต่อในระดับโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย 3) เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งการเรียนภาษาเกาหลีนั้น มีทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ของผู้เรียนที่หลากหลาย อีกทั้งได้มีศูนย์การสอนภาษาเกาหลีทั้งในประเทศไทย และในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้วิจัย ในฐานะเป็นอาจารย์ประจำของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงสนใจที่จะศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อนำมาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาต่างชาติซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ใน 4 ด้าน คือ 1) หลักสูตร 2) การเรียนการสอน 3) สื่อและวัสดุอุปกรณ์ 4) การวัดผลและประเมินผลประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรได้แก่พระสงฆ์ไทยที่พำนักอยู่ ณ วัดพุทธรังษีโซลจำนวน 5 รูปและผู้เรียนภาษาเกาหลีในศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินจำนวน 80 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ พระสงฆ์ไทยที่อยู่จำพรรษาที่วัดพุทธรังษี โซล จำนวน 5 รูป ซึ่งเรียนภาษาเกาหลี และผู้เรียนภาษาเกาหลีซึ่งเป็นฆราวาสที่ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน เมืองฮวาซองชิ จังหวัดเกียงกิโด ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จำนวน 5 คน
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยเรื่องการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับศูนย์การสอนภาษาเกาหลี และการจัดการเรียนการสอนทั้งในประเทศไทยและในเกาหลีใต้ จากเอกสารและอินเตอร์เน็ต (Internet)
ขั้นตอนที่ 2 นำข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับศูนย์การสอนภาษาเกาหลี และการจัดการเรียนการสอนทั้งในประเทศและในเกาหลีใต้มากำหนดเป็นกรอบในการสัมภาษณ์ คือ 1) การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Less Standardized interview) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างไม่เป็นทางการมากนัก โดยไม่กำหนดว่าถามอะไรก่อนหลัง รวมทั้งไม่กำหนดว่าต้องถามคำถามเหมือนกัน ผู้สัมภาษณ์มีอิสระในการถามและสามารถปรับเปลี่ยนการซักถามให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนได้ โดยการบันทึกเสียง 2) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) โดยการบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ทั้งด้วยการจดบันทึกและการบันทึกโดยการถ่ายภาพ และเก็บรวบรวมเอกสารของวัดพุทธรังษีโซลและของศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน
ขั้นตอนที่ 3 การเดินทางไปเก็บข้อมูล ณ ศูนย์สอนภาษาเกาหลีที่วัดพุทธรังษีโซลและศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน เมืองฮวาซองชิ จังหวัดเกียงกิโด ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ครั้งที่ 1 ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2556 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม พ.ศ.2557 แล้วนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ นำมาดำเนินการวิเคราะห์ต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้จากงานวิจัยเชิงประจักษ์ และส่วนที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม มาวิเคราะห์แบบพรรณนา นำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและทัศนคติมาวิเคราะห์ บรรยาย อธิบายพร้อมเหตุผลและการอ้างอิงและมีข้อมูลบางส่วนเป็นลักษณะของการคาดคะเนเชิงคุณภาพ
สรุปผลการวิจัย
การศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ใน 4 ด้าน พบว่า: (1) หลักสูตร: หลักสูตรการสอนภาษาเกาหลีของวัดพุทธรังษีโซลและศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินเป็นหลักสูตรระยะสั้น ระดับละ 3 เดือน มี 4 ระดับ เรียนครั้งละ 2 ชั่วโมง เปิดสอนในวันอาทิตย์ เริ่มสอนตั้งแต่ระดับที่ 1 ผู้เรียนต้องขาดเรียนไม่เกิน 5 ครั้ง เรียนระหว่าง 13.00 น.-15.00 น. (2) การเรียนการสอน: ผู้เรียนภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐาน จะใช้ภาษาไทยกำกับไว้กับภาษาเกาหลี ส่วนผู้สอนเป็นครูอาสาสมัครที่เป็นชาวไทย เมื่อสอบผ่านระดับที่ 1 แล้ว ผู้เรียนของศูนย์แห่งนี้ซึ่งมาจากประเทศต่างๆ จะเข้าเรียนในห้องเรียนเดียวกัน ผู้สอนจะเป็นครูอาสาสมัครชาวเกาหลี (3) สื่อและวัสดุอุปกรณ์: ใช้หนังสือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei university) ซึ่งผู้เรียนต้องมีพื้นฐานด้านภาษาเกาหลีอยู่พอสมควรจึงจะสามารถเรียนได้ ใช้เทปบันทึกเสียง กระดานไวท์บอร์ด และห้องสมุดภายในอาคาร (4) การวัดผลและประเมินผล: มีการสอบการอ่าน การเขียน การพูด และการฟังจากเทปเสียง แล้วให้กากบาทตามรูปภาพที่กำหนดให้ มีการเขียนข้อความใต้ภาพ และให้ผู้สอบทำเครื่องหมายว่า คำใดเขียนถูก คำใดเขียนผิด หรือเติมข้อความในช่องว่างของประโยคที่กำหนดให้ ให้มีความสมบูรณ์ การสอบเพื่อเลื่อนระดับ ต้องเรียนให้ครบ 3 เดือนจึงจะมีการสอบเลื่อนระดับครั้งหนึ่ง และในฤดูหนาวไม่มีการเรียนการสอนในการสอบ เมื่อสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งประกาศนีย บัตรนี้สามารถนำไปแสดงเพื่อเข้ารับการทดสอบด้านความรู้ภาษาเกาหลีซึ่งจัดสอบโดยรัฐบาล เกาหลีใต้ต่อไป
อภิปรายผล
(1) ผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ด้านหลักสูตร พบว่า การสอนภาษาเกาหลีของวัดพุทธรังษีโซล และศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน เป็นหลักสูตรระยะสั้น ระดับละ 3 เดือน มี 4 ระดับ เรียนครั้งละ 2 ชั่วโมง เปิดสอนในวันอาทิตย์ เริ่มสอนตั้งแต่ระดับที่ 1 ผู้เรียนต้องขาดเรียนไม่เกิน 5 ครั้ง เรียนระหว่าง 13.00 น.-15.00 น. ซึ่งทั้งวัดพุทธรังษีโซลและศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน มีความเหมือนกันทั้งระดับชั้นเรียน เวลาเรียน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการดำเนินงานการเรียนการสอนเกิดจากครูอาสาสมัคร กล่าวคือใช้เวลาในวันหยุดมาสอน ส่วนผู้เรียนส่วนมากเป็นแรงงานไทย ดังนั้น จึงสนใจมาเรียนในวันหยุด และได้มีโอกาสมาทำบุญที่วัดด้วย โดยเฉพาะที่วัดพุทธรังษีโซล นั้น ในวันปกติจะมีผู้มาทำบุญประมาณสิบคน แต่ในวันหยุดจะมีผู้มาทำบุญมากกว่าร้อยคน ซึ่งจากการสัมภาษณ์พระสงฆ์ไทยผู้พำนักอยู่ที่วัดพุทธรังษีโซล ทำให้ทราบข้อมูลว่า มีหลักสูตรการสอนภาษาเกาหลีในวันอาทิตย์ เรียนครั้งละ 2 ชั่วโมงโดยมีครูอาสาสมัครชาวเกาหลีเป็นผู้สอน จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนนั้น เริ่มต้นจากครูอาสามัครที่เป็นชาวเกาหลีซึ่งเป็นสามีของหญิงไทย ซึ่งหญิงไทยเมื่อพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ได้มาทำบุญที่วัด โดยสามีได้มาส่งภรรยาซึ่งมาทำบุญที่วัดนั้นเป็นประจำและสามีของหญิงไทยได้เห็นพระสงฆ์สนทนาธรรมกับบรรดาผู้ที่มาวัด ดังนั้น เขาจึงสนใจใคร่จะเข้าใจสิ่งที่พระสงฆ์พูด จึงชักชวนให้พระสงฆ์เรียนภาษาเกาหลี ซึ่งพระสงฆ์ที่วัดได้มีความสนใจที่จะเรียน แต่สืบเนื่องจากมีภารกิจของสงฆ์มากจึงเรียนในวันอาทิตย์ และเป็นการเรียนที่ไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะพระสงฆ์มีข้อจำกัดในการพำนักอยู่ในกาหลีใต้ เช่น ระยะเวลาในการอยู่ที่สั้น เพราะเมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์บางส่วนต้องเดินทางกลับประเทศไทย ดังนั้น การจัดเวลาเรียนครั้งละ 2 ชั่วโมง จึงต้องให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์
ในการเรียนภาษาเกาหลีของพระสงฆ์ไทยที่วัดพุทธรังษีโซล ผู้เรียนจะต้องสนใจศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง ครูอาสาสมัครจะมาสอนและให้คำแนะนำเป็นครั้งคราว และยังไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน หนังสือเรียนภาษาเกาหลีที่นำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนนั้น ผู้สอนเป็นผู้จัดหามาให้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกฤติยา อุชชิน (2547, บทคัดย่อ) ที่พบว่า การเรียนรู้ภาษาเกาหลี นั้นมีสองประการคือ การเรียนรู้จากสถานศึกษา และการเรียนรู้โดยการค้นคว้าด้วยตนเอง ในการเรียนรู้ภาษาเกาหลีจากสถานศึกษานั้นพบว่าเป็นการเรียนรู้ภาษาในระดับพื้นฐานที่ทำให้ได้รับทักษะการเขียน และทักษะการอ่าน สำหรับการค้นคว้าด้วยตนเองเป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องจากการเรียนรู้จากสถานศึกษา โดยผู้เรียนใช้โอกาสจากเวลาว่างจากการทำงานในการค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้รับทักษะการพูด และทักษะการฟัง
ค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาเกาหลีที่วัดพุทธรังษีโซล และที่ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน ไม่มีการจัดเก็บค่าเรียน แต่ที่ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินมีการเก็บค่าสมัคร 10,000 วอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาเกาหลีนี้ พบในงานวิจัยของ กฤติยา อุชชิน (2547, บทคัดย่อ) ว่า การเรียนภาษาเกาหลีนั้นมีค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายในการเรียนในสถานศึกษา คือ ค่าเล่าเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย ค่าเอกสารประกอบการเรียน (Sheet), ค่าครูผู้สอน, ค่าสถานที่ และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการเรียน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-4,500 บาท ต่อคน และค่าใช้จ่ายจากการเรียนรู้โดยการค้นคว้าด้วยตนเอง คือ ค่าหนังสือ บทสนทนา, พจนานุกรม, แผ่นดิสก์ (CD) ภาพยนต์เกาหลี, เทปเพลงเกาหลี ซึ่งถ้าหากผู้เรียนเป็นมัคคุเทศก์ มีค่าใช้จ่าย 500-700 บาท จากการสอบถามความคิดเห็นมัคคุเทศก์ในเรื่องนี้ พบว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า เพราะทำให้พวกเขามีความรู้ในภาษาเกาหลีที่สามารถใช้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ โอได สุวรรณวาท และคนอื่นๆ กล่าวว่า ศูนย์สอนภาษาอีจูมิน มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร คืออาคารสถานที่ต้องเช่า และค่าใช้จ่ายต่างๆ จะได้มาจากการระดมทุนและการขอรับบริจาคจากชาวต่างชาติด้วยกันเอง ศูนย์ฯมีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 700,000 วอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 20,000 บาท บุคลากรของศูนย์ฯ ประกอบด้วยชาวเกาหลี และชาวต่างชาติที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งทุกคนในศูนย์ฯแห่งนี้ที่เป็นอาสาสมัครจะไม่ได้รับค่าตอบแทน จะได้รับค่าตอบแทนบ้างเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย คือทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งจะได้เงินเดือนไม่มาก กล่าวคือประมาณ 7 -9 แสนวอน คือประมาณ 27,000 บาท
ในปีนี้มีผู้เรียนที่เป็นคนไทย 20 คน มีชาวต่างประเทศ 4 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และศรีลังกา โดยมีชาวกัมพูชาเรียนอยู่ 50 คน ศรีลังกา 10 คน ก่อนหน้านี้มีชาวเวียดนามมาเรียนมากกว่า 100 คน แต่ได้เรียนจบหลักสูตรไปหมดแล้ว ส่วนชาวอินโดนีเซียและพม่าก่อนหน้านี้เคยมีมาเรียน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินได้ให้ความสำคัญกับหลักสูตร คือผู้เรียนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนีย บัตร แต่ต้องขาดเรียนไม่เกิน 5 คาบ หรือ 5 ครั้ง กล่าวคือเรียนครั้งละ 2 ชั่วโมง เวลาเรียนระหว่าง 13.00 น.-15.00 น. การเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ระดับที่ 1 ใช้เวลาเรียน 3 เดือน จึงมีการสอบเพื่อออกประกาศนียบัตร ซึ่งประกาศนียบัตรที่ได้นี้สามารถนำไปแสดงเพื่อให้สามารถเข้ารับการทดสอบด้านความรู้ภาษาเกาหลีซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้จัดขึ้น การเรียนที่ศูนย์ฯ นี้ มีเรียนในวันอาทิตย์ แต่ถ้าผู้เรียนประสงค์จะเรียนในวันจันทร์ถึงศุกร์ ทางศูนย์ฯ จะจัดผู้สอนมาสอนให้ โดยครูที่เป็นชาวเกาหลี และหลักสูตรนี้โดยรวมแล้วมี 4 ระดับชั้น ซึ่งหลักสูตรที่จัดเป็น 4 ระดับดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลักสูตรภาษาเกาหลี ของสถาบันพาราไดม์ (2557) ที่จัดหลักสูตรไว้ 4 ระดับชั้นเช่นกัน ประกอบด้วยระดับพื้นฐาน (Introduction) ซึ่งคอร์สนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาเกาหลีและต้องการที่จะเริ่มเรียนภาษาเกาหลีเบื้องต้น ซึ่งการสอนอักษรเกาหลีการนับเลขและประโยคพื้นฐานระดับต้น (Pre-Intermediate) ซึ่งคอร์สนี้จะเริ่มเน้นไวยากรณ์เกาหลีมากขึ้น รวมไปถึงโครงสร้างประโยค ประโยคยาวๆ และการสนทนาตามหัวข้อต่างๆ ระดับกลาง (Intermediate) ซึ่งคอร์สนี้จะเริ่มฝึกการใช้ประโยคในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยจะฝึกทั้งการเขียนและการพูดและการนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้ และเริ่มเรียนระดับสูง (Advanced) ซึ่งเรียนรู้การต่อบทสนทนา การเขียนเรียงความและการพูดตามหัวข้อที่กำหนด รวมไปถึงสร้างประโยคที่ซับซ้อนและการปรับใช้ในบทสนทนาหรือเรียงความ
หลักสูตรการสอนภาษาเกาหลีที่ศูนย์อีจูมิน ต้องเรียนให้ครบ 3 เดือนจึงจะมีการสอบเลื่อนระดับครั้งหนึ่ง เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ หรือเท่ากับเดือนละ 4 ครั้ง หรือเท่ากับ เดือนละ 8 ชั่วโมง เรียน 3 เดือน เท่ากับ 24 ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับโครงการอบรมภาษาเกาหลีสำหรับบุคคลภายนอก ปลายปี 2557 ซึ่งจัดโดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20 กันยายน - 29 พฤศจิกายน 2557 ระยะเวลาในการอบรมภาษาเกาหลี 1 เรียนทุกวันเสาร์ เวลา 9.00 - 12.00 น. รวม 30 ชั่วโมง และใกล้เคียงกับศูนย์สอนภาษาเกาหลี พาราไดม์ (2557) ในการอบรมภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีเบื้องต้นก่อนไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS-Employment Permit System) ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตร 45 ชั่วโมง และยังใกล้เคียงกับหลักสูตรของสถาบันนารามัล (Na Ra Mal Korea Language Institute) ซึ่งหลักสูตรระยะสั้น สำหรับภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐาน 2 สัปดาห์
(2) ผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ด้านการเรียนการสอน พบว่า: ผู้เรียนภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐาน จะใช้ภาษาไทยกำกับไว้กับภาษาเกาหลี ส่วนผู้สอนเป็นครูอาสาสมัครที่เป็นชาวไทย เมื่อสอบผ่านระดับที่ 1 แล้ว ผู้เรียนของศูนย์แห่งนี้ซึ่งมาจากประเทศต่างๆ จะเข้าเรียนในห้องเรียนเดียวกัน ผู้สอนจะเป็นครูอาสาสมัครชาวเกาหลี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการสอนจะสอนโดยครูอาสาสมัครที่เป็นชาวไทย เมื่อสอบผ่านการเรียนภาษาเกาหลีเบื้องต้นแล้ว นักเรียนของศูนย์ฯแห่งนี้ที่มาจากประเทศต่างๆ จะเข้าเรียนในห้องเรียนเดียวกัน ผู้สอนจะเป็นครูอาสาสมัครชาวเกาหลี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ แจมีน แบ (2556, บทคัดย่อ) ที่พบว่า แบบเรียนคำศัพท์ไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสำหรับนักศึกษาเกาหลี มีประสิทธิภาพสูง ฉะนั้นแบบเรียน จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้สอนได้จริงทั้งกับคนไทยและคนเกาหลี ซึ่งการเข้าเรียน ต้องมีการปรับพื้นฐานความรู้ภาษาเกาหลีให้แน่นก่อน และมีระดับความรู้ใกล้เคียงกันทั้งชั้นเรียน จึงจะทำให้เกิดสัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์และทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความไม่เบื่อหน่าย อันเนื่องมาจากการเรียนที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่สอน เนื่องจากพื้นฐานความรู้แตกต่างกันมากจนเกินไป ครูที่เป็นชาวเกาหลีจะสอนในห้องเรียนรวมของชาวต่างชาติ ที่มีความรู้ตามขั้นที่กำหนดไว้ คือผู้เรียนซึ่งเรียนอยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป
ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินมีลักษณะการจัดห้องเรียน ดังนี้ คือ ถ้าเป็นระดับต้น จะแยกเป็นผู้เรียนตามเชื้อชาติของชาตินั้นๆ ระดับสูงขึ้นไปจะเรียนรวมกันของนักเรียนที่เชื้อชาติต่างกัน ลักษณะการเรียนการสอนมีความยืดหยุ่น พอสมควร เช่น ถ้าผู้เรียนมีกิจธุระจำเป็น ต้องลาเรียน และจะต้องเรียนชดเชยโดยให้ผู้สอนสอนเพิ่มเติมให้เพื่อทดแทนในชั่วโมงที่ลาเรียนนั้น การเรียนถ้าผู้เรียนเป็นผู้ใช้แรงงาน ต้องใช้เวลาเรียนภาษาเกาหลีประมาณ 4 ปี การเรียนที่ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมิน มีเรียนในวันอาทิตย์ แต่ถ้าผู้เรียนประสงค์จะเรียนในวันจันทร์ถึงศุกร์ทางศูนย์ฯจะจัดผู้สอนซึ่งเป็นครูชาวเกาหลีมาสอน ตามความประสงค์ของผู้เรียน การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการในโครงการอบรมภาษาเกาหลีสำหรับบุคคลภายนอก ปลายปี 2557 จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20 กันยายน - 29 พฤศจิกายน 2557 ที่มีการเรียนการสอน โดยอาจารย์ชาวเกาหลีจากมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ผู้มีประสบการณ์การสอนและมีประกาศณียบัตรรับรอง จำนวน 5 ท่านเป็นผู้สอน ห้องเรียน จะต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 5 คน และสูงสุดไม่เกิน 15 คน ต่อ 1 ห้องเรียน ซึ่งสอดคล้องกับต้นแบบการดำเนินงานมาจากศูนย์สอนภาษาเกาหลีในเกาหลีใต้
(3) ผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ พบว่า: ใช้หนังสือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei university) ซึ่งผู้เรียนต้องมีพื้นฐานด้านภาษาเกาหลีอยู่พอสมควรจึงจะสามารถเรียนได้ ใช้เทปบันทึกเสียง กระดานไวท์บอร์ด และห้องสมุดภายในอาคาร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทางวัดพุทธรังษีโซลและศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินยังไม่มีเอกสารประกอบการสอน ดังนั้น จึงใช้สื่อและวัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วยหนังสือที่ใช้เรียนเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei university) ซึ่งผู้เรียนต้องมีพื้นฐานด้านภาษาเกาหลีอยู่พอสมควรจึงจะสามารเรียนได้ และใช้เทปเสียงประกอบการเรียนการสอน,ระดานไวท์บอร์ดธรรมดา พร้อมอุปกรณ์,โต๊ะ,เก้าอี้,ห้องสมุดภายในอาคาร จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แบบเรียน หรือหนังสือเรียนมีความสำคัญมาก กล่าวคือเนื้อหาสาระต้องเหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ แจมีน แบ (2556, บทคัดย่อ)ในประเด็น การสร้างแบบเรียนที่ว่า คำศัพท์ไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสำหรับนักศึกษาเกาหลีใต้ที่เขาสร้างขึ้นและทดลองใช้นั้น พบว่า แบบเรียนคำศัพท์ไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสำหรับนักศึกษาเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้สอนได้จริง
ในประเด็นเดียวกันนี้ ในการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ภาษาเกาหลีซึ่งมีคำศัพท์ในตำราเรียนนั้น ล้วนเป็นคำสุภาพ และเป็นภาษาที่เป็นทางราชการ เมื่อผู้เรียนซึ่งส่วนมากแล้วเป็นผู้ใช้แรงงาน ได้นำภาษาที่เรียนจากชั้นเรียนไปใช้จริงในโรงงานหรือในสถานที่ทำงาน ซึ่งแรงงานส่วนมากอยู่ในส่วนงานที่ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ทำ เพราะเป็นงานประเภทที่ใช้แรงงาน ดังนั้น ภาษาเกาหลีที่ใช้ในระดับนี้ จึงเป็นภาษาชาวบ้าน ซึ่งค่อนข้างไม่สุภาพ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนในการพูด เพราะภาษาเกาหลีมีราชาศัพท์เช่นเดียวกันกับภาษาไทย กล่าวคือ มีระดับชั้นสูงต่ำในการพูดระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ดังนั้น แรงงานไทยบางส่วนจึงเห็นว่าการเรียนภาษาเกาหลีที่ศูนย์ฯ ภาษาที่นำมาใช้ใช้ไม่ได้จริง จึงไม่ประสงค์จะเรียน ซึ่งแรงงานไทยมีทัศนคติในเรื่องนี้แตกต่างจากแรงงานชาวเวียดนามหรือชาวกัมพูชา เป็นต้น เพราะชาวต่างชาติดังกล่าว มีความขยันเรียนภาษาเกาหลีและเรียนจนจบหลักสูตร
(4) ผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ด้านการวัดผลและประเมินผล: มีการสอบการอ่าน การเขียน การพูด และการฟังจากเทปเสียง แล้วให้กากบาทตามรูปภาพที่กำหนดให้ มีการเขียนข้อความใต้ภาพ และให้ผู้สอบทำเครื่องหมายว่า คำใดเขียนถูก คำใดเขียนผิด หรือเติมข้อความในช่องว่างของประโยคที่กำหนดให้ให้มีความสมบูรณ์ การสอบเพื่อเลื่อนระดับ ต้องเรียนให้ครบ 3 เดือนจึงจะมีการสอบเลื่อนระดับครั้งหนึ่ง และในฤดูหนาวไม่มีการเรียนการสอน ในการสอบ เมื่อสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งประกาศนียบัตรนี้สามารถนำไปแสดงเพื่อเข้ารับการทดสอบด้านความรู้ภาษาเกาหลีซึ่งจัดสอบโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ นั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการสอบความรู้ความเข้าใจในภาษาเกาหลีของศูนย์ฯ จะมีการสอบการอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง จากเทปเสียง แล้วให้กากบาทตามรูปภาพที่กำหนดให้ กล่าวคือ มีการเขียนข้อความใต้ภาพ และให้ผู้สอบทำเครื่องหมายว่า คำใดเขียนถูก คำใดเขียนผิด หรือเติมข้อความในช่องว่างของประโยคที่กำหนดให้ให้มีความสมบูรณ์ของประโยค
การสอบเพื่อเลื่อนระดับ ต้องเรียนให้ครบ 3 เดือนจึงจะมีการสอบเลื่อนระดับครั้งหนึ่ง และในฤดูหนาวจะไม่มีการเปิดเรียน เนื่องจากหิมะตกมาก
การเรียนภาษาเกาหลี นั้น สภาพห้องเรียนในห้องเรียนหนึ่งๆ จำนวนนักเรียนมีไม่มาก กล่าวคือมีผู้เรียนประมาณ 5-15 คน ต่อหนึ่งห้องเรียน ซึ่งครูผู้สอนดูแลได้อย่างทั่วถึงทั้งห้องเรียน และการเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ หรือเท่ากับเดือนละ 4 ครั้ง หรือเท่ากับ เดือนละ 8 ชั่วโมง เรียน 3 เดือน เท่ากับ 24 ชั่วโมง ดังได้กล่าวแล้ว และมีการทดสอบความรู้และเมื่อสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตรซึ่งสามารถนำไปยื่นขอสอบ The Test of Proficiency in Korean (TOPIK) คือการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีที่จัดขึ้นสองครั้งต่อปีสำหรับชาวต่างชาติในเกาหลีใต้หรือชาวต่างชาติที่เรียนภาษาเกาหลีในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เรียนชาวไทย ( รุ่ง) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และได้พำนักอยู่ที่เกาหลีใต้เป็นเวลา 16 ปีกล่าวว่าผลของการสอบ The Test of Proficiency in Korean (TOPIK) คือสามารถนำผลการเรียนไปเสนอเปลี่ยนประเภทวีซ่ากับทางการของเกาหลีใต้ได้ เช่น เปลี่ยนเป็นวีซ่าประเภท E7 หรื่อวีซ่าถาวร ถ้าเป็นวีซ่าสำหรับผู้ใช้แรงงานจะเป็น E9 หรืออีกนัยหนึ่งคือ E7 ได้แก่ผู้ใช้แรงงานที่มีฝีมือ ส่วน E9 เป็นวีซ่าของผู้ใช้แรงงานไร้ฝีมือ ถ้าเป็นวีซ่าประเภท F คือครอบครัว การเรียนภาษาเกาหลีในศูนย์ฯ ดังกล่าวแล้วนั้นมีชาวกัมพูชามาเรียนมาก และชาวกัมพูชาที่เป็นครูช่วยสอนภาษาเกาหลี มีอยู่หลายคน และส่วนหนึ่งเป็นชาวเวียดนาม ซึ่งคนสองประเทศนี้จะมาเรียนภาษาเกาหลีมากกว่าคนไทย และการเรียนภาษาเกาหลีของคนทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวนี้จะมีพื้นความรู้แน่นมาก เพราะกว่าที่พวกเขาจะมาเกาหลีใต้ได้นั้น ยากกว่าการมาเกาหลีใต้ของคนไทย เพราะสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างกัน ดังนั้น แรงจูงใจในการเรียนภาษาเกาหลีที่สำคัญคือการจะได้รับวีซ่า เพื่ออยู่ในเกาหลีใต้ต่อไป
การเรียนภาษาเกาหลีนั้น ผู้เรียนเป็นผู้ใหญ่ ส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานเขียนของ สุวัฒน์ วัฒนวงศ์ (2545, 225-226) ซึ่งได้สรุปว่า พื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่สมัยใหม่ (Modern Adult Learning Theory) ของโนลส์ (Knowles,1983, 31) ได้แก่ 1) ความต้องการและความสนใจ (Needs and Interests) 2) สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ใหญ่ (Life Situations) 3) การวิเคราะห์ประสบการณ์ (Analysis of Experience) 4) ผู้ใหญ่ต้องการเป็นผู้นำตนเอง (Self –Directing) 5) ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Difference) การเรียนภาษาเกาหลีนั้น ตามทัศนะของคนไทยบางคนซึ่งเป็นผู้เรียนภาษาเกาหลีกล่าวว่า นายจ้างในโรงงานต่างๆ ของเกาหลีใต้จะไม่สอนภาษาเกาหลีให้ลูกจ้าง จะใช้ภาษาใบ้ หรือสัญลักษณ์แทนคำพูด ที่เป็นเช่นนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะนายจ้างเกรงว่าลูกจ้างจะเถียงนายจ้างได้ ภาษาเกาหลีที่ใช้พูดในโรงงานต่างกับภาษาเกาหลีที่ใช้ในสังคมทั่วๆ ไปมาก ดังนั้น ลักษณะการใช้ภาษาจึงเป็นปัญหาของผู้เรียนและของผู้นำภาษาเกาหลีไปใช้ในชีวิตจริง เพราะการทำงานในประเทศฯ เกาหลีมีลักษณะคล้ายๆ กันทุกโรงงาน คือไม่ใช่งานสบาย กล่าวคือเป็นงานหนัก และงานในพื้นที่สกปรก เพราะคนเกาหลีในปัจจุบันไม่ทำงานในสภาพที่มีลักษณะดังกล่าว และคนเกาหลีไม่มีลักษณะสุภาพเหมือนในละครซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ นพดล อินทร์จันทร์ (2556, บทคัดย่อ) ที่พบว่า อิทธิพลของภาพยนต์ชุดเกาหลีในประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมใน 3 ปัจจัย กล่าวคือ 1) การนำเสนอและการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ 2) ส่งถ่ายวัฒนธรรมเกาหลีสู่ประเทศไทย 3) เปลี่ยนแปลงความเชื่อและสุนทรียภาพ พบว่าเป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันโดยการสอดแทรกวัฒนธรรม การเป็นอยู่ หรือรสนิยมไว้ในเนื้อหา ตัวบทภาพยนต์ สถานที่ถ่ายทำ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาหาร และการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันซึ่งส่งผลในเชิงธุรกิจต่อประบวนการพัฒนาประเทศชาติในระบบมหาภาค ดังนั้น จากอิทธิพลของภาพยนต์ชุดเกาหลีทำให้คนไทยคิดว่าคนเกาหลีเป็นคนสุภาพเหมือนในละคร แต่แท้ที่จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมดไม่
อีกประการหนึ่ง การใช้ภาษาเกาหลีที่เรียนในศูนย์ฯ เป็นภาษาสุภาพ แต่ที่ใช้จริงในโรงงาน เป็นภาษาที่ไม่ค่อยสุภาพนัก จึงเกิดความไม่สนิทใจระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ผู้เรียนบางส่วนจึงเกิดความรู้สึกว่าการเรียนภาษาเกาหลีที่ศูนย์ฯ ไม่สามารถนำไปใช้พูดในสังคมผู้ใช้แรงงานตามโรงงานต่างๆ ได้ ดังนั้น จึงควรนำหลักจิตวิทยาการศึกษามาใช้ ดังงานเขียนของ วรวิทย์ นิเทศศิลป์ (2551, 64-65) ซึ่งสรุปไว้ว่าการศึกษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาอันเป็นผลให้การจัดการเรียนการสอนเกิดผลเต็มที่ กล่าวคือแนวทางจัดการศึกษาซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน คือ ความรู้ (Cognitive Domain) เจตคติหรือความรู้สึก (Effective domain) และทักษะ(Psycho-motor) อีกทั้งควรนำทฤษฎีความต้องการพื้นฐานมาใช้ ดังที่ นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน) (2551, 284) ได้สรุปทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของอับราแฮม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ว่า ทฤษฎีแรงจูงใจตามลำดับขั้นของมาสโลว์ กล่าวว่า มนุษย์มีความต้องการ ความปรารถนา และได้รับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง ความต้องการเหล่านี้จะเรียงลำดับขั้นของความต้องการ ตั้งแต่ขั้นแรกไปสู่ความต้องการขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้น คือ 1) ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน เป็นต้น 2) ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (security or safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน 3) ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (ความต้องการทางสังคม) (affiliation or acceptance needs) เป็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความต้องการได้รับการยอมรับ การต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น 4) ความต้องการการยกย่อง (esteem needs) หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ และสถานะจากสังคม เช่น ความต้องการได้รับความเคารพนับถือ ความต้องการมีความรู้ความสามารถ เป็นต้น 5) ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (self-actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ ความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น
การเรียนภาษาเกาหลีดังกล่าวมาแล้วนั้น ถึงแม้ว่าผู้เรียนมีทัศนคติต่างกัน แต่โดยมากแล้วผู้อยู่ใน เกาหลีใต้มีความจำเป็นในการเรียนรู้ภาษาเกาหลี เพราะการไม่รู้ภาษาเกาหลี จะทำให้นายจ้างเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานต่างชาติ โดยพบว่าแรงงานเกินครึ่งถูกเอาเปรียบจากนายจ้างอย่างมาก และบางส่วนถูกเปรียบเล็กๆ น้อย ดังนั้น จึงต้องรู้ภาษาเกาหลี และต้องมีการทำสัญญาจ้างแรงงานและต้องมีการแสดงสัญญาว่าจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ต่อกันระหว่างนายจ้างกับผู้ใช้แรงงาน และในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานต้องการความช่วยเหลือทางด้านภาษาระหว่างนายจ้างชาวเกาหลีใต้กับลูกจ้างชายไทยหรือลูกจ้างที่เป็นชาวต่างประเทศ ศูนย์สอนภาษาเกาหลีอีจูมินจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านการแปล ดังนั้นศูนย์ฯ แห่งนี้จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเพ็ญวนา ปรานสุจริต (2556, บทคัดย่อ) ที่พบว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้เกิดปัญหาในขั้นตอนสมัครสอบ และคัดเลือกจากการได้รับข่าวสารจากทางกรมการจัดหางานที่ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายแรงงาน ในภาษาเกาหลี และได้งานในตำแหน่งงานไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญาจ้าง ดังนั้น สภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานต้องปรับตัว และต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเวลานาน อีกทั้งมีที่พักอาศัยแออัด มีสาธารณูป โภคไม่ค่อยดี อากาศอุณหภูมิต่ำ ต้นทุนทางตรงประเภทค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางไปทำงาน 43,750.97 บาท ต้นทุนทางตรงประเภทค่าใช้จ่ายระหว่างการทำงาน 103,009.01 บาท ต้นทุนทางอ้อมหรือค่าเสียโอกาส 62,558.56 บาท ผลได้ส่วนบุคคล 379,351.35 บาท และมูลค่าปัจจุบันสุทธิมีค่าเป็นบวก 571,326.35 บาท แสดงว่ามีผลได้มากกว่าต้นทุน สมควรตัดสินใจเดินทางไปทำงานเกาหลีใต้
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากผลการวิจัยครั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถนำผลของการวิจัยฉบับนี้ ไปประยุกต์ใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหานักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมีปัญหาการเรียนรู้ภาษาไทย โดยการจัดตั้งศูนย์การสอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้การเรียนของนักศึกษาต่างชาติมีคุณภาพยิ่งขึ้น
2. ข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติ
2.1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ควรรณรงค์และพัฒนานักศึกษาต่างชาติให้มีความรู้ ความเข้าใจในภาษาไทย โดยกำหนดเป็นภารกิจเร่งด่วนและต่อเนื่อง
2.2 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีหน้าที่จัดการศึกษาที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษา และศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย ดังนั้น จึงควรจัดให้มีศูนย์สอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ
3.ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
3.1 ควรมีการวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการในการเข้ารับการศึกษาภาษาไทยของนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ทำเป็นหลักสูตรการสอนภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เหมาะสมต่อไป
3.2 ควรมีการวิจัยเพื่อหารูปแบบฝึกอบรมภาษาไทยที่เหมาะสมนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ
3.3 ควรมีการวิจัยเพื่อติดตามผลระยะยาวของการนำความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อวิธีการสอนของศูนย์สอนภาษาเกาหลีในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ไปประยุกต์ใช้ในการสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
บรรณานุกรม
- กฤติยา อุชชิน .(2547). การศึกษาค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาเกาหลี และผลตอบแทนจากการเป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป(ต่างประเทศ) ภาษาเกาหลี.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2557). โครงการอบรมภาษาเกาหลีสำหรับบุคคลภายนอก ปลายปี 2557. (Online). Available: http://www.arts.chula.ac.th/~asc/index.php? option=com _k2&view=item&id=93. (2557,ตุลาคม 26).
- แจมีน แบ .(2556). การสร้างแบบเรียนคำศัพท์ไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสำหรับนักศึกษา เกาหลี.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- นพดล อินทร์จันทร์ .(2556). ภาพยนต์ชุดเกาหลี: กรณีศึกษากระแสความคลั่งใคล้วัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- เผดิมชัย สะสมทรัพย์ .(2555). รมว.แรงงานเผยแรงงานไทยที่เกาหลีประสบปัญหาสื่อสารกับนายจ้าง.(Online). Available:http://www.prachatai.com/journal/2012/04/40158.( 2557,ตุลาคม 25).
- โรงเรียนแม้นศรีพัฒนาวิชาชีพและภาษา .(2557). สอนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมสอบ EPS-TOPIK ไปทำงานเกาหลี.(Online). Available:http://www.maensri.ac.th/webpage/course.html.(2557, ตุลาคม 25).
- วรวิทย์ นิเทศศิลป์ .(2551). สื่อและนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้.ปทุมธานี: บริษัทสกายบุ๊กส์ จำกัด.
- วัดพุทธรังสี โซล .(2556). ประชาสัมพันธ์งานทำบุญพิธีเปิดวัดพุทธรังษี.(Online). Availablehttp://korea.mol.go. th/node/567.( 2557, ตุลาคม 25).
- ศูนย์สอนภาษาเกาหลี พาราไดม์ .(2557). หลักสูตรภาษาเกาหลีของสถาบันพาราไดม์.(Online). Availablehttp:http://www.studykorea.paradigm-language.com/courses.( 2557,ตุลาคม 25)
- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ .(2557). ความสัมพันธ์ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้). (Online). Available:http://www.bic.moe.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=171 &Itemid=125.( 2557,ตุลาคม 26)
- สุวัฒน์ วัฒนวงศ์ .(2545). จิตวิทยาเพื่อการฝึกอบรมผู้ใหญ่.กรุงเทพฯ:บริษัท เอ็กซเปอร์เน็ท จำกัด.
- เอ็ดยุเคทปาร์ก .(2557). เรียนต่อเกาหลี เรียนภาษาเกาหลีที่สาธารณรัฐเกาหลี.(Online). Available: http://www.educatepark.com/korea/.(2557,ตุลาคม 26)
………………………………………………….
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น